โลกนิทานของหนู

           NTN  ได้เข้าร่วมโครงการ  “โลกนิทานของหนู” โดยวีเน็ท แคปปิทอล(บริษัทแม่) เป็นผู้จัดตั้งโครงการ  วัตถุประสงค์หลัก คือส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านและมีจินตนาการที่กว้างไกลด้วยการสร้างห้องสมุดที่เหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กตามวัย ตั้งแต่ระดับปฐมจนถึงประถมศึกษา ภายในบรรจุหนังสือนิทานและ หนังสือการ์ตูนเสริมสร้างการเรียนรู้กว่า 5,000 เล่ม

          นอกจากนี้ ยังมีการมอบหนังสือใหม่สมทบเข้าห้องสมุดโลกนิทานของหนู มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนยอดนักอ่านและยอดนักจินตนาการ จัดสัมมนาเสริมความรู้แก่ครูบรรณารักษ์และผู้เกี่ยวข้อง เป็นประจำต่อเนื่องทุกปี

แนะนำโครงการโลกนิทานของหนู

  โครงการโลกนิทานของหนู ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2549 ตามเจตนารมณ์ของคุณณรงค์ อิงค์ธเนศ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริหารของบริษัท เดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วีเอสที- อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด) โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมให้    เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน มีจินตนาการที่กว้างไกล และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเห็นว่าหนังสือนิทานคือ  สื่อที่สามารถดึงดูด กระตุ้น และปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้ตั้งแต่เยาว์วัย อีกทั้งยังสามารถช่วยเสริมสร้างจินตนาการของเด็กผู้ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตได้ดีที่สุด

         นอกจากการคืนกำไรสู่สังคมแล้ว คุณณรงค์ยังได้เริ่มสรรหาโรงเรียนที่เหมาะสมเพื่อสร้างห้องสมุดโลกนิทานของหนูเป็นแห่งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2550 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องปีละ 1 จังหวัด จังหวัดละ 1 โรงเรียน เริ่มจากโรงเรียนในเขตปริมณฑลทั้ง 5 จังหวัดก่อน จากนั้นจึงขยายไปยังจังหวัดอื่นที่เชื่อมต่อกัน โดยมุ่งเน้นการออกแบบ-  ห้องสมุดที่เอื้อต่อพัฒนาการของเด็กระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษา ทั้งด้านการพัฒนาสมองกับการพัฒนากล้ามเนื้อทั้ง มัดใหญ่มัดเล็กควบคู่กันไป

        ห้องสมุดโลกนิทานของหนูจึงเป็นห้องสมุดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ที่ได้รับ การออกแบบตกแต่งอย่างประณีตสวยงาม ประกอบด้วยชั้นวางหนังสือสีสันสดใส ภาพศิลปะบนผนัง หนังสือวิชาการและหนังสือนิทานหลากหลายประเภททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ของเล่นเสริมสร้างจินตนาการ (เลโก) โรงละครหุ่นมือพร้อมหุ่นมือ คอมพิวเตอร์สืบค้นสำหรับนักเรียน เคาน์เตอร์บรรณารักษ์ มุมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และอื่น ๆ ตามความจำเป็นที่ต้องใช้งาน โดยยึดการออกแบบตามเกณฑ์ห้องสมุด 3 ดีของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี ส่วนการจัดหนังสือภายในห้องสมุดจะแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ  โซนหนังสือนิทาน  โซนหนังสือวิชาการ และนิทานภาษา-อังกฤษ

        ต่อมาในปีพุทธศักราช 2560 คุณณรงค์เกษียณอายุงานจากบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อมาดูแลกลุ่มธุรกิจในเครือบริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งประธานและผู้ก่อตั้ง จึงโอนย้ายโครงการโลกนิทานของหนูที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งไปเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมของกลุ่มบริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด นับจากนั้นเป็นต้นมา

        หลังจากสร้างห้องสมุดมอบให้โรงเรียนต่าง ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ คุณณรงค์ยังมีนโยบายให้ดูแลห้องสมุดและสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของทุกโรงเรียนภายใต้โครงการโลกนิทานของหนูอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  • การมอบหนังสือนิทานที่ออกใหม่สมทบเข้าห้องสมุดเป็นประจำทุกปี
  • การมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนยอดนักอ่าน รางวัลละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) พร้อมพาไปทัศนศึกษาที่คิดส์ซาเนีย กรุงเทพฯ
  • การมอบรางวัลแก่นักเรียนยอดนักจินตนาการ ด้วยการพาไปทัศนศึกษาตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ สวนสนุกดรีมเวิล์ด สยามโอเชียนเวิลด์ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ และคิดส์ซาเนีย กรุงเทพฯ
  • การจัดสัมมนาเสริมความรู้แก่ครูบรรณารักษ์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
  • การจัดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและพนักงานของบริษัทกับผู้อำนวยการและครูของโรงเรียนภายใต้โครงการโลกนิทานของหนู
  • การปรับปรุงซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ภายในห้องสมุดที่ชำรุดเสียหาย
  • การเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ภายในห้องสมุดเมื่อเสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน

        นอกจากหนังสือนิทานแล้ว “เพลง” คือ สื่ออีกประเภทหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน ทางโครงการฯจึงได้สร้างสรรค์บทเพลง “โลกนิทานของหนู” ขึ้นในช่วงปลายปี 2560 โดยมีแต่คำร้อง และให้แต่ละโรงเรียนใส่ทำนองกันเองตามจินตนาการ ซึ่งนักเรียนสามารถร้องและแสดงท่าทางประกอบกันอย่างสนุกสนาน

 

กลุ่มเป้าหมาย

  • โรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาและไม่มีแนวโน้มเป็นโรงเรียนขยายโอกาส
  • มีจำนวนนักเรียนรวมทุกระดับชั้นไม่น้อยกว่า 500 คน
  • มีสถานที่ที่เหมาะสมและสามารถนำมาปรับปรุงเป็นห้องสมุดได้
  • ผู้บริหาร ครู และบุคลากรของโรงเรียน มีความพร้อมที่จะดูแลและใช้ห้องสมุดให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน